The Personal Colors of Mamo ‘มะโม’ ศิลปินผู้ปล่อยวางจากความสมบูรณ์แบบ เรียนรู้และเยียวยาผ่านเฉดสีธรรมชาติใกล้ตัว


The Personal Colors of Mamo ‘มะโม’ ศิลปินผู้ปล่อยวางจากความสมบูรณ์แบบ เรียนรู้และเยียวยาผ่านเฉดสีธรรมชาติใกล้ตัว


เริ่มต้นกันที่แพนโทนแรกกับ ‘The Personal Colors of Work’ พาร์ทชีวิตการทำงานบนเส้นทางศิลปิน ที่สื่อสารผ่านเฉดสีฟ้า คราม และเทา’

คุณมะโม เล่าว่า เฉดสีเทานี้ได้มาจากถ่านชาร์โคลที่ถูกเผาจนกลายเป็นขี้เถ้า ควบคู่มากับเฉดสีฟ้าที่ได้จากคราม ทั้งหมดถูกแต้มลงบนผืนผ้าแคนวาสสลับความเข้มอ่อนต่างกันไป

เฉดสีฟ้าและเทาถูกสื่อความแทนความคิดถึงช่วงที่ได้ใช้เวลาทุ่มเทไปกับงานที่รัก ซึ่งการทำงานก็ถูกมองว่าเป็นเหมือนกับการเสียสละที่ทำเพื่อดูแลครอบครัวของคุณมะโม

“เราชอบตอนที่ตัวเองได้หมกมุ่นอยู่กับงานที่รักในปริมาณเยอะนะ เราอินกับมันมากจนรู้สึกคิดถึงช่วงนั้น แล้วพอคิดถึงมันก็ทำให้นึกถึงความบลูส์ หรืออารมณ์หม่น ๆ เลยเลือกเป็นสีฟ้าจากคราม”

“เรามองว่าการทำงานเป็นการเบิร์นตัวเองประมาณหนึ่งเลยเหมือนกัน มันได้ใช้พลัง ใช้เวลา เลยเลือกสีจากถ่านที่ต้องถูกเผาก่อนเพื่อให้เกิดเป็นบางสิ่งขึ้นมาแล้วสุดท้ายเหลือแค่ขี้เถ้า หลายคนบอกว่ามันคือการเสียสละ แต่เราไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นการเสียสละที่ลำบาก เราต่างหากที่เต็มใจ สุดท้ายมันก็ทำเพื่อให้คนอื่นได้เติบโต ก็เลยเลือกสีเทาจากขี้เถ้าด้วย”


เส้นทางกว่าจะมาเป็น ‘ศิลปินที่ใช้สีธรรมชาติ’ ของคุณมะโม

ก่อนหน้านี้ คุณมะโมเป็นอีกหนึ่งคนที่เรียนจบด้านโฆษณามาแล้วทำงานตรงสาย ได้ใช้ความรู้ที่มีอย่างเต็มที่ อยู่ในบริษัทเอเจนซี่รวมแล้วประมาณ 5 ปี


โดยมีงานฝั่ง Illustration ที่ทำลงบล็อกส่วนตัวควบคู่กันไปตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยด้วย เมื่อเริ่มมีงานเข้ามามากขึ้น ก็ได้ตัดสินใจออกจากงานประจำมารับงานอิสระด้าน Illustration เต็มตัว แต่พอถึงจุดหนึ่งที่ทำมาเรื่อย ๆ ก็รู้สึกว่าตัวเองเริ่มหมดไฟ จากการที่ทำตามความต้องการของคนอื่นอยู่บ่อยครั้ง


“ตอนนั้นเหมือนกำลังสูญเสียตัวตนไปจริง ๆ จนเราไปเจอบทความออนไลน์ เรื่อง การทําสีธรรมชาติ ด้วยความที่ยังไม่เคยใช้สีธรรมชาติล้วนเลย ก็คิดไปว่าถ้าได้ใช้กับงานของเราจะเป็นยังไง จากนั้นก็เริ่มไปเรียน ”


คุณมะโมศึกษาเรื่องสีธรรมชาติอย่างลงลึก ไม่เพียงแต่การทำสีน้ำธรรมชาติ แต่ยังรวมไปถึงการทำสีเทียนธรรมชาติอีกด้วย

โดยเริ่มเรียนกับครูเย่ (ดลฤดี บุญแก้ว) จิตรกรไทยที่เธอได้รับแรงบันดาลใจจากการได้เก็บดอกไม้มาทำสีเป็นครั้งแรก เมื่อสะสมความรู้มาประมาณหนึ่งแล้ว สีเทียนธรรมชาติ คือเรื่องถัดมาที่คุณมะโมได้ไปเรียนรู้กับ ครูแซนด์ (สุวัลญา ศักดิ์สมบัติ) โดยทำสีจากการใช้ Bee Wax หรือ Soi Wax เป็นองค์ประกอบ

แต่ด้านที่คุณมะโมสนใจจริง ๆ คือ ‘สีจากหิน’

“ถ้าเราใช้ดิน หิน หรือว่าสีที่เป็นยาง พอมันผ่านกระบวนการเคี่ยวจนทำให้เกิดสีมันก็จะอยู่ได้นานมาก ๆ ซึ่งต่างจากสีที่สกัดจากพืช ที่พอทําปฏิกิริยากับแสงอาทิตย์ สีมันก็จะเฟดแล้วหายไปตามกาลเวลา”

“การทำสีจากธรรมชาติมันมี 2 องค์ประกอบหลัก ๆ ในการทำสี อย่างแรกคือ Pigment เป็นผงส่วนที่ให้สี กับอีกส่วนคือ Binder เป็นองค์ประกอบที่ผสมลงไปเพื่อทำให้สีธรรมชาติที่ทำขึ้นมันติดกับกระดาษ หรือติดผ้า เสมือนกาวก็ว่าได้”

เหมือนยิ่งลงรายละเอียดในเรื่องการทำสีธรรมชาติ ก็รู้สึกยิ่งหลงใหล แพสชันในการทำงานเริ่มกลับมาอีกครั้ง คุณมะโมค้นหาสีใหม่ ๆ จากการตามหาวัสดุธรรมชาติไปตามสถานที่ต่าง ๆ เรื่อยมา มีทำสีเสียไปก็หลายครั้ง แต่คุณมะโมบอกด้วยน้ำเสียงสดใสว่าสนุกมากเมื่อได้ค้นหาและทดลองทำสิ่งนี้


หลังจากที่ได้เรียนรู้เรื่องสีเทียนธรรมชาติจากครูแซนด์ คุณมะโมได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาออนไลน์กับ Wild Pigment Project ซึ่งเป็นคอมมูนิตี้ออนไลน์ของศิลปินที่ใช้สีธรรมชาติจากทั่วโลกที่จะจัดขึ้นทุก 4 ปี

คุณมะโมบอกว่า การแลกเปลี่ยนมุมมองและความรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในคอมมูนิตี้นี้ มีหลายเทคนิคที่ยังคงต้องแสวงหานอกห้องเรียน การต่อยอดงานศิลปะจากสีธรรมชาติจึงมีความเป็นไปได้ทั้งหมด

“เราเรียนกระบวนการทำ แต่วิธีการเอาไปใช้ต่างกัน บางคนชอบนำสีธรรมชาติไปย้อมผ้า เขาก็จะเอาใบไม้ที่เก็บรักษาด้วยการฟรีซไว้มาใช้ในงานมัดย้อมจนเกิดเป็นลายใบไม้สวย มันมีหลายเทคนิคมากที่ทำให้เกิดงานศิลปะ”

ถ้าหากถามว่าแล้วศิลปะสไตล์ของคุณมะโมเป็นแบบไหน คำตอบที่ได้คือ ‘การวาดแนวเชิงนามธรรมบนผืนผ้า’


‘จุดเริ่มต้นของงานเซรามิก’

นอกจากงานศิลปะจากสีธรรมชาติแล้ว ยังมีงานเซรามิกที่เพื่อนบ้านของเราคนนี้หลงใหล จนตัดสินใจไปลงเรียนกับ ครูแจ๋ (กรกช สุขทรัพย์วศิน Atpotterhouse) แล้วรู้สึกตกหลุมรักตอนที่กำลังได้ปั้นดิน เพราะช่วงเวลาเหล่านั้นทำให้เธอได้กลับมาอยู่กับตัวเองอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับการทำสีธรรมชาติ 

‘mamo & things แบรนด์ศิลปะจากวัสดุธรรมชาติ’

หลังจากนั้นไม่นาน ความสนใจของผู้คนที่มีต่อสีธรรมชาติก็มีมากขึ้น คุณมะโมจึงได้ต่อยอดการทำสี ไปสู่การทำแบรนด์ ‘mamo & things’ โดยแรกเริ่มมาจาก Starter Kit ตัวทดลองทำสีน้ำธรรมชาติ และมีสินค้าน่ารัก ๆ ออกวางขายอย่างเทปกระดาษ Natural colors paper tapes 

เมื่อประกอบกับความชอบที่ได้ปั้นดินหลากหลายรูปแบบ ทั้ง จานสีปุ๊กปิ๊ก Smiley tray palette, ช้อนชา Ceramic spoons, แก้วหูยาว Looong handle espresso mug, แจกันดอกไม้สุดชิค Lady vase, กระถางต้นไม้ Plant pot และผลงานเซรามิกสุดอาร์ตอีกหลายชิ้นที่น่าจะถูกใจ Ceramic Lovers แน่ ๆ 


จากความสนใจเรื่องสีธรรมชาติ ต่อยอดมาเป็นแบรนด์ mamo & things จนไปสู่การแสดงงานที่ลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 3 วัน ในชื่อโปรเจ็กต์ ดีดี (Project DeeDee) ของคุณ Janya Solanet

โปรเจ็กต์ ดีดี (Project DeeDee) เป็นโปรเจ็กต์ที่คอยสนับสนุนให้งานอาร์ตของศิลปินไทยได้ไปแสดงงานที่ต่างประเทศ และคุณมะโมเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกค้นพบจากทางออนไลน์ ตอนนั้นเป็นช่วงที่เธอรู้สึกตื่นเต้นเป็นพิเศษ

ยิ่งไปกว่าความรู้สึกตื่นเต้น คือการได้พบเจอผู้คนใหม่ ๆ ที่สนใจงานศิลปะ

“เราชอบคัลเจอร์การชื่นชมงานศิลปะของคนที่นี่มาก เขาจะเข้ามาถามว่าแรงบันดาลใจคืออะไร ทําจากอะไร แล้วทํายังไง ชอบงานชิ้นไหน ส่วนฉันชอบชิ้นนี้นะ มันมีหมายความว่ายังไง”

“ในงานไม่มีใครถ่ายรูปเลย เขาหาโอกาสเข้ามาคุยกับเรา เตรียมอะไรไปเขาดูหมด ยืนอ่านรายละเอียดงานทุกชิ้น มันทำให้รู้สึกว่าเขาอยู่กับเรา เขาสนใจงานเรา คือเราได้คุยเยอะมากผ่านคำถามที่เกี่ยวกับศิลปะ ซึ่งมันน่าประทับใจจริง ๆ”


‘หินนอก VS. หินไทย’

หลังจบจากโชว์เคส คุณมะโมก็ได้ไป Road Trip กับครอบครัว โดยมุ่งหน้าสู่ซานฟรานซิสโก เธอเล่าว่า ได้มีโอกาสแวะสำรวจระหว่างทางบ้างจนได้เจอกับหินธรรมชาติรูปร่างแปลกตา

“เรามีเก็บหินบางก้อนกลับมาด้วย แต่จากการทดลองทำสี รู้สึกว่าหินเมืองนอกสีไม่ออกสีเท่าของที่ไทยนะ มันจะเป็นสีเทา ๆ ส่วนของไทยจะได้เฉดสีที่เยอะกว่า จริง ๆ แล้วบ้านเราเป็นประเทศที่เหมาะกับการหาวัสดุมาทําสีมาก ๆ เลยค่ะ แค่ขับรถไปสักที่ก็เก็บหินมาทำสีได้แล้ว”

คุณมะโมแชร์เพิ่มเติมว่า ในแต่ละภาคมักจะได้หินได้ดินในเฉดสีที่ต่างกัน ภาคอีสานดินจะออกแดงอมส้ม ภาคใต้จะออกสีแดงก่ำ ส่วนภาคเหนือก็จะนิยมไปเก็บกันที่เชียงดาว และอีกหลายจังหวัด โดยการเก็บสะสมวัสดุธรรมชาติ กลายเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำประจำเมื่อต้องออกเดินทาง

“แต่สไตล์หินที่ชอบจริง ๆ ส่วนใหญ่จะให้สีออกเอิร์ธโทน ที่พอเนื้อสีมันแตกเราจะรู้สึกว่ามันพิเศษ อย่างสีเขียว เพราะว่าเราไม่ค่อยเห็นดินที่มันเป็นสีเขียวใช่ไหมคะ แต่แค่ปั่นจักรยานออกไปแถวบ้านก็เจอแล้ว”


เมื่อพูดคุยมาถึงจุดหนึ่ง เราก็ได้รู้จักคุณมะโมในบทบาทของศิลปินมากขึ้น ทุกประสบการณ์หลอมรวมกันออกมาเป็นตัวคุณมะโมอย่างเช่นทุกวันนี้ 

และหากต้องนิยามความเป็นศิลปินในชื่อ ‘มะโม’ แล้วล่ะก็ คำจำกัดความที่ตัวเธอเองนึกถึงคือ ‘วะบิ ซะบิ หรือความสวยงามบนความไม่สมบูรณ์แบบ’

“เรานึกถึงปรัชญาญี่ปุ่นนี้ขึ้นมา ความไม่เนี้ยบแต่รู้สึกได้ถึงรายละเอียดต่าง ๆ มันคือการปล่อยวางสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ อย่างตอนเราเผางานเซรามิก จะไม่มีทางรู้เลยว่ารูปร่างในตอนสุดท้ายมันจะออกมาเป็นยังไง การทำสีธรรมชาติก็เหมือนกัน”

คุณมะโมเสริมเพิ่มอีกนิดหน่อย ว่ามองเห็นปรัชญานี้อยู่ในชีวิตประจำวันของเธอเองเหมือนกัน

“โดยเฉพาะเรื่องการเลี้ยงลูก รู้สึกว่าได้ใช้เยอะมากเลยค่ะ พอเจอเด็กที่พลังเยอะบางครั้งเราควบคุมเขาไม่ได้ มันก็ต้องมีบ้างที่ต้องปล่อยไป ไม่งั้นเราจะเครียดเอง”

และนี่คือเรื่องราวผ่าน ‘เฉดสีฟ้าและเทา’ จากพาร์ทการทำงานของคุณมะโม


พาร์ทต่อมา คือ ‘The Personal Colors of Family’ แพนโทนสีสว่าง ที่สื่อสารถึงเรื่องครอบครัวและความสัมพันธ์’

ถัดจากเฉดสีฟ้าและเทา ขยับมาเป็นสีสันสดใส อย่างสีน้ำตาล สีเหลือง สีเขียวที่แซมเหลือง แต่งแต้มอยู่บนผืนผ้าแคนวาส

คุณมะโมให้เหตุผลที่เลือกสีเฉดนี้ เพราะมีสมาชิกใหม่ ‘ชื่อน้องคลาวดี้’ บรรยากาศในบ้านเปลี่ยนไป ทำให้รู้สึกอบอุ่นขึ้นจนชวนให้นึกถึงพระอาทิตย์ และรู้สึกอยากดูแลรักษาช่วงเวลาเหล่านั้นให้ดี เรื่องครอบครัวจึงเป็นเรื่องที่เธออินที่สุดแล้วในตอนนี้

“เราเลือก สีแดงจากดิน เพราะว่ามันคือองค์ประกอบที่เป็นตัวสร้างทุกอย่าง เรานึกถึงพระแม่ธรณี ที่เหมือนเป็นต้นกำเนิดของทุกสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติ ซึ่งองค์ประกอบของดินมีธาตุเหล็กที่เหมือนกับเลือดในร่างกาย จึงหมายถึงการเติบโตขึ้นมาเป็นตัวเรา  มันก็เลยเป็นสัญลักษณ์ของการดูแลไปโดยปริยายด้วย”


เมื่อถามว่าแต่ละเฉดสีในแพนโทนนี้ได้มาจากอะไร คุณมะโมตอบว่า สีน้ำตาลได้จากดินแดงสีเข้ม ส่วนเฉดสีน้ำตาลออกเหลืองหน่อยได้จากดินเทอร์ราคอตตา และเฉดที่ติดเขียวได้จากการผสมกับสีเหลืองที่ได้จากรงทอง

“รงทอง จะเป็นยางไม้ที่ถูกปั้นเป็นก้อน เป็นสีที่เราใช้บ่อยเพราะค่อนข้างสดมาก แล้วมันเป็นสีที่คนไทยโบราณใช้ตอนเพนท์วัด มันก็จะออกเขียวหน่อยเพราะถูกปนกับสีอื่น ซึ่งเราสามารถผสมสีได้เยอะมากจากเฉดนี้”

บทบาทที่เพิ่มเข้ามานอกจากการเป็นศิลปิน ต้องใช้ความพยายามในการหาสมดุล ระหว่างงาน และการดูแลครอบครัว เสมือนการผสมสีให้เป็นไปตามใจ (แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งที่จะผสมออกมาได้ตามใจ) ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ

คุณมะโมทิ้งท้ายในพาร์ทครอบครัวเอาไว้ว่า เธอเลือกเฉดนี้ด้วยความรู้สึกคิดถึงช่วงเวลาที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว มันเป็นช่วงเวลาที่ผ่านไปแล้วเอากลับมาไม่ได้ จึงเปรียบได้ว่าเป็นการบันทึกความรู้สึก ณ ขณะนั้นผ่านเฉดสีที่สว่างสดใส


มาถึงพาร์ทสุดท้ายซึ่งก็คือ The Personal Colors of Feelings แพนโทนสีเอิร์ธโทนที่สื่อถึงความรู้สึกของช่วงนี้ของคุณมะโม

“โดยรวมช่วงนี้เรารู้สึกว่า อยากจะเป็นเหมือนต้นไม้ก็เลยเลือกสีเขียว อยากจะทํางานโดยที่คิดว่ามันไม่ใช่งาน เหมือนเราแค่หายใจและเติบโตไปตามปกติ อยากเป็นคนที่ฟังเสียงร่างกายตัวเอง แล้วก็ทําในสิ่งที่คิดว่าควรทําในตอนนั้นโดยไม่ต้องรู้สึกว่ามันฝืนเกินไป”

“เราอยากทำทุกอย่างให้ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องกดดันตัวเองเพื่อให้ทำมันออกมาให้ดี การเลือกสีเขียวที่สื่อถึงต้นไม้เพราะต้นไม้มันโตในแบบของมันเองโดยไม่ต้องไปเร่งด้วยการใส่ปุ๋ย อยู่กับสิ่งที่เราเป็นอยู่ มันก็สามารถเติบโตได้”

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณมะโมเองจะรู้สึกดีกับการอยู่เฉย ๆ เพียงแค่ร่างกายเราสมควรได้รับการพักผ่อน ก็คิดเสียว่าต้องพัก เราไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดอะไรกับการที่เราทำงานได้ไม่เท่าเดิม

“มันเป็นช่วงที่เราพยายามรู้ตัว ว่าตอนนี้เราต้องการอะไร ช่วงไหนที่คิดถึงการทำงานก็กลับไปทำเมื่อใจพร้อม”


‘ความงามบนความไม่สมบูรณ์แบบ’

คุณมะโมเล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลือกสีเฉดนี้ว่าชอบมากที่ได้เห็นรอยแตกของเนื้อสี ซึ่งบางคนที่เคยมาเรียนทำสีด้วยกันบอกว่าเสียดายที่มันแตกจนหลุดออก โดยส่วนนี้ก็ต้องอาศัยประสบการณ์ในการผสมแป้งและดินประมาณหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างล้วนต้องทดลองทำมาก่อน ไม่งั้นเราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเส้นทางที่เรากำลังเดินอยู่มันใช่ทางที่เหมาะสมแล้วหรือยัง เช่นเดียวกับคุณมะโม ศิลปินและแม่ ผู้ที่กำลังใช้ชีวิตในทุกพาร์ทอย่างเต็มที่ ได้เรียนรู้ระหว่างทาง และเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกก้าวที่ไป


ก่อนที่จะต้องแยกย้ายกันไปตามหาเฉดสีของตัวเอง สิ่งหนึ่งที่ทำให้มองเห็นเพิ่มขึ้นคือ ‘ศิลปะเป็นเรื่องของทุกคน’

ศิลปะได้ขับเคลื่อนชีวิตของคุณมะโมมายังจุดนี้ มันจึงมีอิทธิพลต่อเธอมาก และเธอเองก็มองว่ามันมีอิทธิพลต่อคนอื่นเช่นกัน อยู่ที่ว่ามันมากหรือน้อยจนส่งผลให้รู้ตัวหรือไม่ จากการพูดก็ดี การจัดการก็ดี ไม่ว่าคุณจะเป็นใครล้วนมีศิลปะข้องเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตเสมอ

“ศิลปะสะท้อนตัวตนออกมาผ่านการกระทำ ผ่านการทำสี การได้ทดลองปั้น ก็เหมือนแบบฝึกหัดของการ Let it go สำหรับเรา การได้จมดิ่งไปกับสิ่งที่ชอบบางครั้งก็ทำให้เรามีสมาธิ และรู้จักตัวเองมากขึ้น”

วันนี้เราได้รู้จักกับคุณมะโมมากขึ้นผ่าน ‘Personal Colors’ ได้เห็นว่าทุกเฉดสีมีความหมายที่เชื่อมโยงกัน ทั้งเต็มไปด้วยความคิดถึง ความอบอุ่น และความสงบ ซึ่งไม่ว่าจะถูกแบ่งออกเป็นกี่เฉด ทุกเฉดสีล้วนสวยงามเสมอ

และในครั้งหน้า เราจะชวนไปทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านคนไหน ฝากติดตามศิลปินสุดอาร์ตคนต่อไปได้ทางคอลัมน์ Art People ที่ Neighbors and friends แห่งนี้

Leave a Reply